ประเภทของระบบ
การตื่นตัวและความสนใจศึกษาระบบ ทำให้นอกจากการทำความเข้าใจแบบจำลองของระบบว่ามีส่วนประกอบอย่างไร และส่วนประกอบต่างๆทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างไรแล้วจำแนกประเภทของระบบก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยในการศึกษานั้นอาจจะแบ่งประเภทของระบบตามความสนใจได้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
1.ระบบธรรมชาติ(Natural System)และระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น(Manmade System)ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ระบบธรรมชาติหมายถึงระบบที่เป็นไปตามธรรมชาติหรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือโดยการอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นหมายถึงระบบที่มีการสร้างขึ้นมา อาจจะเป็นการสร้างจากระบบธรรมชาติเดิม หรือระบบจะไม่ได้อาศัยระบบธรรมชาติเดิมก็ได้ เช่น ระบบธนาคาร ระบบบริษัท ระบบการศึกษา หรือระบบเครื่องจักรกล เป็นต้น
2.ระบบปิด(Close System)และระบบเปิด(Open System)ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ระบบปิดหมายถึงระบบที่มีการควบคุมการทำงานและการแก้ไขด้วยระบบเองอย่างอัตโนมัติ โดยระบบไม่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปปฏิบัติงานได้ด้วยตัวเอง หรือได้เข้าร่วมการดำเนินการ ส่วนระบบเปิดหมายถึงระบบที่ไม่มีการควบคุมการทำงานด้วยตัวระบบเอง จะต้องทำการควบคุมดูแลโดยมนุษย์ เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าร่วมการดำเนินการด้วยตนเอง ส่วนมากเป็นระบบการใช้เครื่องจักร เช่น ระบบเครื่องATMหรือระบบการใช้ห้องสมุด เป็นต้น
3.ระบบคน(Man SystemหรือMaual System)ระบบเครื่องจักร(Machine System)และระบบคนเครื่องจักร(Man-Machie System)ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าระบบคนหมายถึงระบบที่การปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคน หรือระบบที่ใช้แรงงานของคนในการทำงานโดยตรง อาจจะมีเครื่องจักรช่วยในการทำงานบ้างก็ได้ แต่จะต้องเป็นเครื่องจักรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคนโดยตรง ส่วนระบบเครื่องจักรหมายถึงระบบการทำงานโดยใช้เครื่องจักรโดยตรง หรือเครื่องจักรจะเป็นผู้ทำงานให้ ซึ่งอาจใช้คนบ้างก็ได้ เช่น การฝากถอนเงินจากเครื่องATMหรือการบรรจุหีบห่อที่ทำโดยตรงด้วยเครื่องจักร เป็นต้น และระบบคนเครื่องจักรหมายถึงระบบที่มีการทำงานร่วมกันของคนและเครื่องจักร ซึ่งจะต้องมีทั้ง2อย่างจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เช่น การฝากถอนเงินที่เคาน์เตอร์ของธนาคารโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
4.ระบบหลัก(Major System)ระบบรอง(Minor System)ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ระบบหลักหมายถึงระบบที่ได้วางไว้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางสำหรับการกำหนดหรือการจัดทำระบบรอง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์บางอย่าง หรือเพื่อให้เป็นการเหมาะสมกับหน่วยปฏิบัติงานย่อย ระบบหลักส่วนมากจะเป็นระบบที่วางไว้อย่างกว้างๆเพื่อให้เข้ากันได้กับทุกสถานการณ์หรือทุกหน่วยงาน ส่วนระบบรองหมายถึงระบบที่ช่วยเสริมระบบหลักให้สมบูรณ์ หรือมีประสิทธิภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น ระบบการทำงานที่มีแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว เป็นต้น
5.ระบบใหญ่(System)และระบบย่อย(Sub-System)ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ระบบใหญ่หมายถึงระบบที่รวมระบบย่อยตั้งแต่1ระบบขึ้นไป เพื่อปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเดียวกันหรือร่วมกัน เช่น ระบบมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยคณะและหน่วยงานต่างๆหรือระบบธุรกิจที่ประกอบด้วยฝ่ายหรือแผนกงานต่างๆ เป็นต้น ส่วนระบบย่อยหมายถึงระบบย่อยของระบบใหญ่ เพื่อปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งของระบบใหญ่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ ซึ่งถ้าขาดระบบย่อยส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ระบบใหญ่ก็จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ และระบบย่อยเหล่านี้อาจแบ่งออกเป็นระบบย่อยๆเป็นลำดับ
จากการแบ่งประเภทของระบบตามที่กล่าวมา ผู้อ่านควรจะศึกษาและทำความเข้าให้ลึกซึ้งเสียก่อนที่จะจำแนกว่า ระบบที่ต้องการเป็นแบบใด แต่ไม่ว่าจะมีการแบ่งประเภทของระบบแบบใด จะสังเกตได้ว่าระบบแต่ละระบบต่างมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งจะใช้เป็นกรอบในการจำแนกและศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น